การเลี้ยงนกกระจอกเทศ
นกกระจอกเทศเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเป็นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันในขณะนี้ เพราะนอกจากจะนำเอาเนื้อมาบริโภคแล้ว ยังสามารถนำเอาส่วนต่างๆ ของนกกระจอกเทศมาทำประโยชน์ได้ เช่น นำหนังของนกกระจอกเทศมาผลิตกระเป๋า เข็มขัด ขนของนกกระจอกเทศนำมาทำเครื่องประดับ หรือแม้แต่น้ำมันของนกกระจอกเทศก็สามารถนำมาสกัดใช้ได้
ลักษณะโดยทั่วไปของนกกระจอกเทศ
1. พันธุ์ คอดำ - ลักษณะผิวหนังจะมีสีเทา ดำ -เท้าและปากสีดำ ตัวเล็ก ให้ผลผลิตเนื้อน้อย มีนิสัยเชื่อง ไม่ดุร้าย และเหมาะกับสภาพแวดล้อมในเมืองไทยมากที่สุด
2. พันธุ์คอแดง - ลักษณะผิวหนังสีชมพูเข้ม ตัวผู้จะมีขนสีดำตลอดลำตัว ยกเว้นปลายหาง และปีกมีสีขาว ส่วนตัวเมีย ขนจะมีสีน้ำตาล เทา ขนาดของนกกระจอกเทศพันธุ์คอแดงจะมีขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตเนื้อมาก แต่ปริมาณไข่น้อย ตัวผู้มีนิสัยดุร้าย โดยเฉพาะช่วงผสมพันธุ์
3. พันธุ์ คอน้ำเงิน - ลักษณะผิวหนังมีสีฟ้าอมเทา สีขนเหมือนกับพันธุ์คอแดง แต่ตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย ให้เนื้อน้อยกว่าพันธุ์คอแดง แต่จะให้ผลผลิตไข่ในปริมาณที่มากกว่าพันธุ์คอแดง
การผสมพันธุ์
- แม่นกที่มีวัยเหมาะสมในการผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงอายุ 18 เดือน ส่วนพ่อนกจะอยู่ในช่วงอายุ 24 เดือน
- การผสมพันธุ์ไม่สามารถกระทำได้ทันที จะต้องปล่อยให้นกอยู่ด้วยกันประมาณ 6 เดือน
- การผสมพันธุ์จะต้องแยกเป็นคู่ ๆ ภายในคอก ซึ่งล้อมด้วยตาข่ายเหล็กสูงประมาณ 1 เมตรเศษ
- ในโรงเรือนควรจะปรับสภาพของพื้นทรายไว้ เมื่อแม่นกออกไข่ก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้เลย
การวางไข่
หลังจากที่นกผสมพันธุ์กัน แม่นกจะอาศัยอยู่ในโรงเรือนที่เตรียมไว้เพื่อวางไข่ ในโรงเรือนควรเกลี่ยทรายรองพื้นเป็นรังไข่ไว้ ซึ่งพอแม่นกออกไข่ครบตามกำหนด ผู้เลี้ยงก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้ทันที
หมายเหตุ
- แม่นกสามารถให้ไข่ได้ดีที่สุดในช่วงอายุ 5-10 ปี - แม่นกบางตัวที่สมบูรณ์ สามารถให้ไข่สูงสุดประมาณ 80 ฟองต่อปี แต่ถ้าแม่นกมีอายุมากขึ้น แม่นกจะให้ไข่ในปริมาณที่น้อยลง
ระยะเวลาการฟักไข่
หลังจากแม่นกออกไข่แล้ว จะนำไข่เข้าตู้ฟัก เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว จะถูกแยกมาเลี้ยงในโรงอนุบาลประมาณ 1 เดือน จากนั้น จะปล่อยไปอยู่รวมกันด้านนอก เป็นโรงเรือนเลี้ยงลูกนก จนอายุครบ 3 เดือน ก็จะแยกไปอยู่อีกโรงเรือนหนึ่ง พออายุครบ 6 เดือน ก็จะย้ายไปเลี้ยงรวมกันกับนกตัวอื่นๆ กระทั่งเมื่อนกกระจอกเทศเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ซึ่งมีอายุประมาณ 18-24 เดือน จึงจะแยกเลี้ยงอีกครั้ง โดยแยกออกเป็นคู่ๆ เพื่อให้ผสมพันธุ์กัน
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการกกลูกนกกระจอกเทศ หรือเห็นว่าลูกนกแข็งแรงดีแล้ว ผู้เลี้ยงควรดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ยก เครื่องกกออกด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ลูกนกตกใจ และสังเกตอาการของลูกนกกระจอกเทศ หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยทันที
2. ภาชนะที่ให้อาหาร ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และให้อาหารลูกนกกระจอกเทศครั้งละน้อยๆ วันละ 4-5 ครั้ง ส่วนภาชนะที่ให้น้ำ ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และมีน้ำให้นกกระจอกเทศกินตลอดเวลาด้วย
3. เมื่อลูกนกกระจอกเทศแข็ง แรงและสมบูรณ์ดีแล้ว ควรปล่อยให้ลูกนกได้ออกไปเดินเล่นข้างนอกโรงเรือนอนุบาลบ้าง เพราะจะทำให้ลูกนกแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
4. ตรวจสุขภาพของลูกนกกระจอกเทศเป็นประจำทุกวัน ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อม การระบายอากาศและวัสดุรองพื้นให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
5. จด บันทึกอัตราการตาย การกินอาหาร การให้ยาหรือวัคซีนและอัตราการเจริญเติบโต ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
การให้อาหาร
นกกระจอกเทศเป็นสัตว์กินพืช กระเพาะจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระเพาะบด จะมีลักษณะเหมือนกระเพาะไก่ และกระเพาะพักจะมีลักษณะเหมือนกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ ดังนั้น อาหารนกกระจอกเทศ จึงควรเป็นพืช ผัก หญ้า และสัตว์เล็กๆ เช่น ลูกกบ จิ้งจก หรือแมลงต่างๆ นอกจากนี้ นกกระจอกเทศยังจิกกินก้อนหิน หรือหินเกล็ดเล็กๆ เพื่อช่วยในการบดย่อยอาหารที่บริเวณกระเพาะบด สำหรับการเลี้ยงในระบบฟาร์ม อาหารของนกกระจอกเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้เลี้ยงจะต้องคำนวณให้ตรงตามความต้องการของนกกระจอกเทศในแต่ละช่วงอายุ โดยจะต้องมีแร่ธาตุอาหารครบถ้วนและเพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ความต้องการอาหารในแต่ละช่วงอายุ
ปัญหาในการเลี้ยง
การเลี้ยงในระยะ 1-3 เดือนแรกเป็นช่วงที่มีปัญหามากสำหรับผู้เลี้ยง แต่ถ้าทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้อง ปัญหาการตายของลูกนกก็จะลดลง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ผู้เลี้ยงจะต้องฝึกให้ลูกนกระจอกเทศรู้ว่า แหล่งอาหารอยู่ตรงไหน เพื่อไม่ให้นกกระจอกเทศไปกินดิน กินหญ้า เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกนกยังอ่อนแอ
ทำไมการเลี้ยงนกกระจอกจึงน่าสนใจ ?
* มีปัญหาน้อยเกี่ยวกับโรคระบาด พยาธิ โรคอื่นๆ รวมทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
* อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเนื้อนกกระจอกเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับการวิจัยและพัฒนาตลาด
* ตลาดมีความต้องการพ่อแม่พันธุ์นกกระจอกเทศ เนื่องจากการเลี้ยงนกกระจอกเทศกำลังได้รับความ
สนใจและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แหล่งข้อมูล เกษตรสร้างอาชีพ "ฟาร์มนกกระจอกเทศ,".นิตยสารเส้นทางเศรษฐี. ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544,หน้า 43-45.
ขอขอบคุณ ครูสัญญา ฉิมรักแก้วที่เอื้อเฟื้อรูปภาพน่ารัก ๆ ของนกกระจอกเทศ (ก๊อปรูปภาพจากเฟสบุคครูสัญญา) และบทความดีๆ เกี่ยวกับนกกระจอกเทศ